วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์


ตอน 1 : ความทั่วไป
กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Computer Crime Law) เป็นกฎหมายตัว หนึ่งที่มีความล่าช้ามากในบรรดากฎหมายสารสนเทศทั้ง 6 ฉบับ ความล่าช้านั้นก็มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จะต้องดูตัวอย่างกฎหมายจากหลายๆประเทศที่บังคับใช้ไปก่อนแล้ว เพื่อจะมาปรับเข้ากับบริบทของประเทศไทย แน่นอนครับว่าการคัดลอกมาทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่าง สภาพวัฒนธรรม ความเจริญก้าวหน้าที่ไม่เท่ากันแล้ว ย่อมจะเกิดปัญหาเมื่อนำมาใช้อย่างแน่นอน



อีกทั้งเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และในกระบวนการยุติธรรมของบ้านเราด้วย กฎหมายบางเรื่องต้องใช้เวลานานถึง 5 ปีกว่าจะออกมาใช้บังคับได้ บางเรื่องใช้เวลาถึง 10 ปีเลยทีเดียวครับ 
ปัญหาความล่าช้าเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาประเทศของเรา ทั้งนี้ เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นระบบงานราชการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องผ่านหลายหน่วยงาน หลายขั้นตอน หรือแม้แต่ระบบการพิจารณาในสภา ที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลกันบ่อยๆจึงทำให้ขาดความต่อเนื่อง และยังมีสาเหตุอื่นอีกมากที่ทำให้กฎหมายแต่ละฉบับนั้นออกมาใช้บังคับช้า 
ที่มาของกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ 
ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคอมพิวเตอร์เข้าไปมีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารอย่างในปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่ามีพัฒนาการเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย แต่ถึงแม้ว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นจะถูกนำมาประยุกต์ใช้และก่อให้เกิดประโยชน์มากมายก็ตาม หากนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีไม่ชอบแล้วก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้ 
ดังนั้นจึงเกิดรูปแบบใหม่ของอาชญากรรมที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำผิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Computer Crime Law) ขึ้น 
ในบางประเทศอาจเรียกว่า กฎหมายเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ในทางมิชอบ (Computer Misuse Law) หรือในบางประเทศอาจต้องมีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้รองรับกับความผิดในรูปแบบใหม่ๆได้ ด้วยการกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษสำหรับการก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ขึ้นเพื่อให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได 
้ในต่างประเทศนั้น มีลักษณะการบัญญัติกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ 2 รูปแบบ คือ การบัญญัติในลักษณะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เช่น ประเทศเยอรมนี แคนาดา อิตาลี และสวิสเซอร์แลนด์ ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ การบัญญัติเป็นกฎหมายเฉพาะ เช่น ประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา 
สำหรับประเทศไทยนั้น เลือกใช้ในแบบที่สองคือบัญญัติเป็นกฎหมายเฉพาะ โดยมีชื่อว่า พระราชบัญญัติอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ….(ประกาศใช้ปีไหน ก็ใส่ พ.ศ. เข้าไปแทนจุดครับ-ผู้เขียน) 
จะเห็นได้ว่าแม้รูปแบบกฎหมายของแต่ละประเทศอาจจะแตกต่างกัน แต่การกำหนดฐานความผิดที่เป็นหลักใหญ่นั้นมักจะคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ โดยมากแล้วต่างก็คำนึงถึงลักษณะของการใช้คอมพิวเตอร์ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญ กฎหมายที่ออกมาจึงมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน 
สภาพปัญหาในปัจจุบัน 
ปัญหาข้อกฎหมายของอาชญากรรมคอมพิวเตอร์คือ หลักของกฎหมายอาญาที่ระบุว่า ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย (Nulla poena sinelege) และมุ่งคุ้มครองวัตถุที่มีรูปร่างเท่านั้น แต่ในยุคไอทีนั้น ข้อมูลข่าวสารเป็นวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง เอกสารไม่ได้อยู่ในแผ่นกระดาษอีกต่อไป ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ไม่อาจขยายการคุ้มครองไปถึงได้ 
ตัวอย่างของการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ได้แก่ การโจรกรรมเงินในบัญชีลูกค้าของธนาคาร การโจรกรรมความลับของบริษัทต่างๆที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ การปล่อยไวรัสเข้าไปในคอมพิวเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์ในการปลอมแปลงเอกสารต่างๆ รวมไปถึงการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการก่อวินาศกรรมด้วย 
รูปแบบการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันทวีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำหน้าที่สืบสวนทำงานได้อย่างยากลำบาก 
ทั้งยังต้องอ้างอิงอยู่กับกฎหมายอาญาแบบเดิมซึ่งยากที่จะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ 
นักกฎหมายจึงต้องเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในเรื่องทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น การขโมยโดเมนเนม (Domain Name) ซึ่งไม่มีรูปร่าง ไม่สามารถจับต้องและถือเอาได้ แต่ก็ถือเป็นทรัพย์และยอมรับกันว่ามีมูลค่ามหาศาล 
ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์คือเรื่อง พยานหลักฐาน เพราะพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและกระทำได้ง่าย แต่ยากต่อการสืบหา รวมทั้งยังสูญหายได้ง่ายอีกด้วย เช่น ข้อมูลที่ถูกบันทึกอยู่ในสื่อบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่อง (Hard Disk) นั้น หากระหว่างการเคลื่อนย้ายได้รับความกระทบกระเทือนหรือเกิดการกระแทก หรือเคลื่อนย้ายผ่านจุดที่เป็นสนามแม่เหล็ก ข้อมูลที่บันทึกใน Hard Disk ดังกล่าวก็อาจสูญหายได้ 
นอกจากนี้เรื่องอำนาจในการออกหมายค้นก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเช่นกัน เพราะการค้นหาพยานหลักฐานใน Hard Disk นั้นต้องกำหนดให้ศาลมีอำนาจบังคับให้ผู้ต้องสงสัยบอกรหัสผ่านแก่เจ้าหน้าที่ที่ทำการสืบสวนเพื่อให้ทำการค้นหาหลักฐานใน Hard Disk ได้ด้วย 
นอกจากนั้น ปัญหาเรื่องขอบเขตพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะผู้กระทำความผิดอาจกระทำจากที่อื่นๆที่ไม่ใช่ประเทศไทย ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจของศาลไทย ดังนั้นกฎหมายควรบัญญัติให้ชัดเจนด้วยว่าศาลมีเขตอำนาจที่จะลงโทษผู้กระทำผิดได้ถึงไหนเพียงไร และถ้ากระทำความผิดในต่างประเทศจะถือเป็นความผิดในประเทศไทยด้วยหรือไม 
ส่วนประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก็คือประเด็นเรื่องอายุของผู้กระทำความผิด เพราะผู้กระทำความผิดทางอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ส่วนมาก โดยเฉพาะ Hacker และ Cracker นั้น มักจะเป็นเด็กและเยาวชน และอาจกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเพราะความคึกคะนองหรือความซุกซนก็เป็นได้ 

ตอน 2 : ลักษณะของการกระทำความผิด
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2545 (ฉบับรวมหลักการของกฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และกฎหมายเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกัน) ซึ่งมีผลใช้บังคับไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545 ที่ผ่านมา

พูดถึงบ้านเมืองเรานี่ก็แปลกนะครับ กฎหมายบังคับใช้ก็ไม่ไปประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีคนอ่านเยอะๆ แต่ไปประกาศในราชกิจนุเบกษา เชื่อไหมครับว่าเรื่องอะไรสำคัญๆ กฎหมายเอย กฎกระทรวงเอย กฎอะไรต่างๆนาๆที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวม ใครสร้างถนน สร้างสะพาน ย้ายใคร แต่งตั้งผู้ใครและเรื่องอื่นๆอีกมากมายก่ายกองก็จะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา และอะไรก็ตามเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ก็จะถือว่าทุกคนได้ทราบแล้วโดยปริยายครับ จะอ้างว่าไม่รู้ไม่เคยอ่านไม่ได้    
ก็เหมือนเวลาเราโดนตำรวจจับนั่นแหละครับ เราจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ นี่แหละครับความสำคัญของหนังสือที่ว่านี้ ลองหามาอ่านกันดูนะครับ  
ลักษณะของการกระทำผิดหรือการก่อให้เกิดภยันตรายหรือความเสียหายอันเนื่องมา  
จากการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์นั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ จำแนกตามวัตถุหรือระบบที่ถูกกระทำ คือ  
1. การกระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์ (Computer System)  
2. การกระทำต่อระบบข้อมูล (Information System)  
3. การกระทำต่อระบบเครือข่ายซึ่งใช้ในการติดต่อสื่อสาร (Computer Network)  
“ระบบคอมพิวเตอร์”  
“ระบบคอมพิวเตอร์” หมายถึง อุปกรณ์อิเล็กทรออิกส์หรือชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ  
ซึ่งมีการตั้งโปรแกรมให้ทำหน้าที่ในการประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ ดังนั้น “ระบบคอมพิวเตอร์” จึงได้แก่ ฮาร์ดแวร์ (Hardware) และซอฟต์แวร์ (Software) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อประมูลผลข้อมูลดิจิทัล (Digital Data) อันประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์รอบข้าง (Peripheral) ต่างๆ ในการเข้ารับหรือป้อนข้อมูล (Input) นำออกหรือแสดงผลข้อมูล (Output) และบันทึกหรือเก็บข้อมูล (Store and Record)  
ดังนั้น ระบบคอมพิวเตอร์จึงอาจเป็นอุปกรณ์เพียงเครื่องเดียว หรือหลายเครื่องอันอาจมีลักษณะเป็นชุดเชื่อมต่อกัน ทั้งนี้ โดยอาจเชื่อมต่อกันผ่านระบบเครือข่าย และมีลักษณะการทำงานโดยอัตโนมัติตามโปรแกรมที่กำหนดไว้และไม่มีการแทรกแทรงโดยตรงจากมนุษย์ ส่วนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นจะหมายถึง ชุดคำสั่งที่ทำหน้าที่สั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำงาน  
“ระบบข้อมูล”  
“ระบบข้อมูล” หมายถึง กระบวนการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับสร้าง ส่ง รับ เก็บรักษาหรือประมวลผลข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์  
การให้ความหมายของคำว่า ระบบข้อมูล ตามความหมายข้างต้น เป็นการให้ความหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และหากเราพิจารณาความหมายตามกฎหมายดังกล่าวซึ่งตราขึ้นเพื่อรองรับผลทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นการรับรองข้อความที่อยู่บนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เท่าเทียมกับข้อความที่อยู่บนแผ่นกระดาษ จึงหมายความรวมถึง ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ โทรสาร เป็นต้น  
จะเห็นได้ว่าการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์โดยการคุกคามหรือก่อให้เกิดความเสียหาย คงจะไม่ใช่เพียงแต่กับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในความหมายดังกล่าวเท่านั้น เพราะการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์นั้น อาจเป็นการกระทำต่อข้อมูล ซึ่งไม่ได้สื่อความหมายถึงเรื่องราวต่างๆ ทำนองเดียวกับข้อความแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่เป็นรหัสผ่าน หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น  
กระนั้นก็ตาม แม้ข้อมูลจะมีลักษณะหลากหลาย แล้วแต่การสร้างและวัตถุประสงค์ของการใช้งาน แต่ข้อมูลที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้ ต้องมีลักษณะที่สำคัญร่วมกันประการหนึ่งคือ ต้องเป็น “ข้อมูลดิจิทัล (Digital Data)” เท่านั้น  
ข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความสำคํญอย่างมากต่อการรวบรวมพยานหลักฐานอันสำคัญยิ่งต่อการสืบสวน สอบสวนในคดีอาญา คือ ข้อมูลจราจร (Traffic Data) ซึ่งเป็นข้อมูลที่บันทึกวงจรการติดต่อสื่อสาร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทำให้ทราบถึงจำนวนปริมาณข้อมูลที่ส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในแต่ละช่วงเวลา สำหรับข้อมูลต้นทางนั้น ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่อยู่ไอพี (Internet Protocol Address) หรือ IP Address นั่นเอง  
ส่วนข้อมูลปลายทางนั้น ได้แก่ เลขที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Email Address) หรือที่อยู่เวบไซต์ (URL) ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแวะเข้าไปดูข้อมูล นอกจากข้อมูลต้นทางและปลายทางแล้ว ยังรวมถึงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับเวลาที่มีการติดต่อสื่อสารหรือการใช้บริการ เช่น การติดต่อในรูปของไปรษณีอิเล็กทรอนิกส์ หรือการโอนแฟ้มข้อมูล เป็นต้น  
“ระบบเครือข่าย”  
ระบบเครือข่าย หมายความถึง การเชื่อมต่อเส้นทางการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันเป็นทอดๆ ซึ่งอาจเป็นระบบเครือข่ายแบบปิด คือ ให้บริการเชื่อมต่อเฉพาะสมาชิกเท่านั้น หรือระบบเครือข่ายแบบเปิด อันหมายถึง การเปิดกว้างให้ผู้ใดก็ได้ใช้บริการในการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายหรือการติดต่อสื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ต เป็นต้น  
คงพอจะทราบกันแล้ว ว่าลักษณะของการกระทำความผิดของอาชญากรรมคอมพิวเตอร์นั้นมีอะไรบ้าง และอาจกระทำต่ออะไรได้บ้าง รวมทั้งความหมายของคำต่างๆที่ใช้ในกฎหมายดังกล่าว อาจจะดูวิชาการไปบ้าง แต่ก็เพื่อจะปูพื้นฐานให้มีความเข้าใจเมื่อกล่าวถึงในบทต่อๆไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น